Top Ad unit 728 × 90

ข่าววิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียน

Science-News

ความแตกต่างระหว่าง รากและลำต้น (X-section)


คอร์เทกซ์ (cortex) และสตีล stele ในราก

x-section ของรากและลำต้น เมื่อนำมาดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะแบ่งออกได้เป็น 3 บริเวณ ได้แก่

1. เนื้อเยื่อผิว (epidermis) 

2. คอร์เทกซ์ (cortex)
3. สตีล (stele)

ราก


- ชั้นเนื้อเยื่อผิว อยู่รอบนอกสุด โดยทั่วไปประกอบด้วยเซลล์ที่เรียงตัวชั้นเดียว และเนื้อเยื่อผิวของรากโดยปกติจะไม่พบปากใบ (stoma) 
- คอร์เทกซ์ คือชั้นของเนื้อเยื่อพื้น (ground tissue) ที่อยู่ระหว่างเนื้อเยื่อผิวและสตีล 
- สตีล คือบริเวณตรงกลาง ๆ ของรากและลำต้น

คำถามคือขอบเขตของคอร์เทกซ์สิ้นสุดลงที่ใด หรือขอบเขตของสตีลเริ่มต้นขึ้นที่ไหนการบอกขอบเขตของคอร์เทกซ์และสตีลในรากทำได้ง่ายกว่าในลำต้น โดยให้ดูที่เนื้อเยื่อชั้นพิเศษที่เรียก เอนโดเดอร์มิส (endodermis) ซึ่งถือว่าเป็นชั้นในสุดของคอร์เทกซ์ ดังนั้นเนื้อเยื่ออื่นที่อยู่ถัดจากชั้นเอนโดเดอร์มิสเข้าไปด้านในทั้งหมด จึงจัดเป็นส่วนของสตีล 


แล้วดูอย่างไรว่าเนื้อเยื่อชั้นไหนคือเอนโดเดอร์มิสถ้าตอบตามทฤษฏี ให้ดูที่แถบแคสแพเรียน (casparian strip) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวของเอนโดเดอร์มิส

แล้วแถบแคสแพเรียน คืออะไรแถบแคสแพเรียนเป็นแนวการสะสมของซูเบอริน (suberin) หรือลิกนิน (lignin) บนผนังเซลล์ (cell wall) ของเอนโดเดอร์มิส ด้าน radial wall และ transverse wall เกิดเป็นแถบคาดรอบเซลล์ทั้งด้านบน ด้านล่าง และด้านข้างของเซลล์ 


แต่ในความเป็นจริงการตัด x-section แล้วจะเห็นแถบแคสแพเรียนเป็นเรื่องยาก เพราะ

1. แถบแคสแพเรียนจะปรากฏให้เห็นเป็นแถบบนผนังเซลล์ในระยะที่เซลล์ของเอนโดเดอร์มิสยังมีอายุไม่มากเท่านั้น เมื่อเซลล์มีอายุเพิ่มขึ้นจะเพิ่มการสะสมสารซูเบอรินหรือลิกนิน ลงไปบนผนังเซลล์จนผนังเซลล์มีความหนาเพิ่มมากขึ้น และบดบังลักษณะของแถบแคสแพเรียนไป

2. ถึงแม้ในขณะที่เซลล์ยังอายุไม่มาก แต่การตัด x-section ที่จะให้เห็นแถบแคสแพเรียนนั้น จะต้องตัดให้ใบมีดผ่านไปบนความหนาของผนังเซลล์เท่านั้น และต้องอยู่ในแนวระนาบ จึงจะเห็นลักษณะของแถบแคสแพเรียนชัดเจน 


ดังนั้นการหาเอนโดเดอร์มิสก่อน แล้วค่อยหาแถบแคสพาเรียนจึงง่ายกว่า โดยสังเกตได้จาก


1. ถ้าไปตัดเจอตรงบริเวณที่เอนโดเดอร์มิสแก่แล้ว ให้สังเกตแถวของเซลล์ที่มีผนังหนากว่าเซลล์ข้างเคียง เนื่องจากการสะสมซูเบอรินหรือลิกนินที่เพิ่มมากขึ้น จะทำให้เกิดลักษณะผนังที่หนากว่าเซลล์ของเนื้อเยื่อพื้นที่อยู่ข้างเคียงชัดเจน และโดยทั่วไปมักจะเห็นผนังหนาคล้ายรูปเกือกม้าหรือรูปตัวอักษรยู U

2. ถ้าไปตัดเจอตรงบริเวณที่เอนโดเดอร์มิสยังอ่อน แต่ไม่ผ่านแถบแคสแพเรียนบนผนังด้าน transverse wall ให้สังเกตแถวของเซลล์ ที่ผนังเซลล์ด้าน radial wall มีความหนาหรือเห็นเป็นปื้นหนาๆ สีเข้มมากกว่าบริเวณอื่น ซึ่งเป็นตำแหน่งของแถบแคสแพเรียนบน radial wall (เหมือนในภาพที่แสดง) ส่วนเนื้อเยื่ออื่นที่อยู่ถัดจากชั้นเอนโดเดอร์มิสเข้าไปทั้งหมดคือส่วนของสตีล 


สตีล เริ่มที่เพอริไซเคิล (pericycle) ซึ่งเป็นชั้นของเซลล์ผนังบางที่มีลักษณะเป็นเซลล์พาเรนไคมา เรียงตัวเป็นวง 1 แถว และอยู่ติดกับเอนโดเดอร์มิสเสมอ และเนื้อเยื่อสำคัญที่จะต้องพบในสตีลไม่ว่าจะเป็นในรากหรือลำต้นก็ตาม คือ เนื้อเยื่อท่อลำเลียง (vascular tissue) ได้แก่เนื้อเยื่อท่อลำเลียงอาหารปฐมภูมิ (primary phloem) และเนื้อเยื่อท่อลำเลียงน้ำปฐมภูมิ (primary xylem) นอกจากนั้นยังอาจพบเนื้อเยื่อพื้นอื่น ๆ อยู่ในชั้นของสตีลได้ด้วย ขึ้นกับลักษณะโครงสร้างรากของพืชแต่ละชนิด

ที่มา: Botany & Genetics at Chulalongkorn University

ความแตกต่างระหว่าง รากและลำต้น (X-section) Reviewed by Kru P' Bank on วันศุกร์, พฤศจิกายน 06, 2558 Rating: 5
All Rights Reserved by BIOLOGY BY KRU-P'BANK © Since 2015
Made with Love by Sanwithz

ฟอร์มรายชื่อติดต่อ

ชื่อ

อีเมล *

ข้อความ *

ขับเคลื่อนโดย Blogger.