Top Ad unit 728 × 90

ข่าววิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียน

Science-News

TED Inspiration

วันนี้ผมจะขอนำเสนอ TED ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ผมชอบดู TED มาก เพราะมันได้รับทั้งข้อมูลใหม่ๆ และได้รับแรงบันดาลใจจากนักพูดที่มาพูดให้เราฟัง มาเริ่มกันเลย


1. หรือโรงเรียนจะเป็นแหล่งทำลายความคิดสร้างสรรค์ ?


TED นี้  Sir Ken Robinson หนึ่งในบุคลลที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผม ผันตัวเองมาเดินทางในสายการศึกษา เพราะอยากให้การศึกษาไทยพัฒนาขึ้น และสามารถแข่งขันกับสังคมโลกได้ ได้พูดไว้ในปี ค.ศ. 2006 ใน TED นี้ Sir Ken Robinsonได้กล่าวถึงโรงเรียนแทนที่จะเป็นสถานที่ให้นักเรียนได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ กลับกลายเป็นสถานที่ที่ทำลายความคิดสร้างสรรค์ เรากำลังทำให้เด็กทุกคนออกมาเหมือนกัน โดยการสอนเด็กทุกคนเหมือนกัน ฝึกให้เขาจำ และคิดเล็ขเร็วๆ ซึ่งทั้งหมดนั้นถูกแทนที่ด้วยคอมพิวเตอร์หมดแล้ว เราจึงควรสอนเด็กให้คิด ไม่ใช่สอนให้เป็นเครื่องจักรที่จำข้อมูลได้เยอะๆ หรือเป็นเครื่องคิดเลขที่คำนวณได้เร็ว โรงเรียนไม่ยอมรับความผิดพลาด การทำอะไรผิดของนักเรียนจะกลายเป็นเรื่องน่าอาย ซึ่งนั้นมันจะค่อยๆ ก่อตัวและกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ เพราะความคิดสร้างสรรค์มันต้องทำอะไรใหม่ๆ ที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน และมันจะต้องผิดพลาดบ้างแน่นอน แต่ถ้าโรงเรียนทำให้ความผิดพลาดกลายเป็นเรื่องน่าอาย แทนที่จะเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม มันจึงเป็นเรื่องยากมากที่จะพัฒนาความคิดสร้างสรรค์





2. ถึงเวลาแล้วที่เราต้องปฎิวัติการศึกษา

TED นี้  Sir Ken Robinson ได้เล่าถึงการที่นักเรียนของเราไม่รู้ว่าเขาชอบอะไร หรือเขามีความถนัดด้านไหน จึงเป็นเรื่องที่แย่มาก เพราะมันจะส่งผลถึงช่วงชีวิตตอนที่เขาไปทำงาน เพราะงานมันจะแบ่งเราออกเป็น 2 กลุ่มทันที กลุ่มแรก คือกลุ่มคนที่ทำงานไปวันๆ รอวันหยุดเสาร์อาทิตย์ และกลับมาวนวัฏจักรนี้เรื่อยๆ ทำแบบเดิมซ้ำๆ และกลุ่มที่สองคือกลุ่มคนที่ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองกำลังทำงาน เพราะนี่คือชีวิตของเขา นี่คือตัวตนของเขา คนกลุ่มนี้จะทำงานโดยไม่สนวันหยุด เพราะพวกเขารักมัน ถ้าเราสร้างเด็กถูกวิธีเราจะมีคนกลุ่มที่สองมากกว่าคนกลุ่มที่หนึ่ง วงการการศึกษาของโลกในปัจจุบันกำลังมีการปฏิรูป (Reform) แต่มันไม่เพียงพอ การศึกษาต้องการ การปฏิวัติ (Revolution) คือมันต้องเปลี่ยนเป็นสิ่งใหม่เลย ไม่ใช่การซ่อมแซมบนพื้นฐานเดิม ใน TED นี้ Sir Ken Robinson ยังได้ยกตัวอย่างหลายๆ อันที่ทำให้เราเห็นว่า ความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์เป็นสิ่งที่สำคัญ การทำอะไรด้วยความรัก ความหลงใหล (Passion) มันควรเป็นสิ่งที่พลักดันมนุษย์ และเป็นสิ่งที่โรงเรียนควรให้การสนับสนุน





3. เราจะพาระบบการศึกษาออกจากหุบเหวแห่งความตายนี้ได้ยังไง

TED นี้  Sir Ken Robinson ได้กล่าวถึงระบบการศึกษาของอเมริกาในเชิงลึก และระบบการศึกษาไทยก็เหมือนกับระบบการศึกษาของอเมริกา (ในมุมมองของผม เราลอกเขามาหมดนั่นหล่ะ) คือมันมีปัญหาไปในทุกระดับ ตั้งแต่การกำหนดนโยบาย อย่าง STEM ที่ให้ความสนใจกับวิชาหลักแค่ 4 วิชา ทั้งที่ความสามารถของเด็กอีกจำนวนมากอาจไม่ใช่ 4 วิชานี้ การใช้มาตรฐานการวัดเดียวทั้งประเทศ อย่าง O-net ของเรา ก็เหมือนกับ SAT Test ของอเมริกา ซึ่งมันไม่ควรเป็นอย่างนั้นเพราะมนุษย์มีความแตกต่างกัน จะวัดแบบเดียวกันหมดไม่ได้ ตัวอย่างเช่น ฟินแลนด์ ไม่มีการสอบระดับชาติ (อาจจะมีการสอบบ้าง แต่มันเป็นการทดสอบเพื่อให้เกิดการพัฒนา ไม่ได้ทำให้เด็กต้องมานั่งเครียด ไปหาติวกวดวิชา ให้พ่อแม่เสียเงินเสียทองจำนวนมาก) ในตอนท้าย Sir Ken Robinson ได้สรุปว่าระบบการศึกษาเปรียบเหมือนกับ Death valley (หุบเขาที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตเลยที่ประเทศอเมริกา) แต่เมื่อฝนตกมา หุบเขานั้นก็มีพืชเกิดขึ้น และเกิดเป็นสวนขึ้นมา มันกำลังบอกเราว่าการพัฒนาระบบการศึกษาต้องพัฒนาแบบ Organic คือเป็นการจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะกับการเจริญเติบโตของเด็ก และแน่นอนสิ่งแวดล้อมไม่มีใครสั่งการมันได้ การศึกษาก็เช่นกัน ไม่ควรเป็นการพัฒนาในรูปแบบการรับคำสั่ง หรือนโยบายจากเบื้องบนลงมา มันควรเป็นการพัฒนาจากด้านล่าง จากตัวนักเรียน จากโรงเรียนขึ้นไป





4. เฮ้ย!!! คุณครูวิทย์ทั้งหลาย สอนวิทยาศาสตร์ให้มันสนุกๆ หน่อย!



TED นี้ Tyler Dewitt ครูสอนวิทยาศาสตรได้เล่าให้เราฟังว่า เขาเคยสั่งการบ้านเด็กให้ไปอ่านเรื่องที่เขาคิดว่าเจ๋งที่สุด นั่นคือการโจมตีแบคทีเรียของไวรัส

         เขาถามนักเรียนในคาบถัดมาว่า ไหนใครอธิบายได้บ้างว่า ทำไมเรื่องนี้มันถึงเจ๋งมากๆ ? 
         มีนักเรียนคนหนึ่งตอบว่า มันห่วยมากต่างหากครู นักเรียนอธิบายต่อว่า มันไม่ใช่การอ่านหนังสือมันห่วยนะครู แต่หนูกำลังหมายถึงว่าหนูอ่านแล้วไม่รู้เรื่องเลย มันก็เลยห่วย 

จากนั้น Tyler Dewitt เขาได้อธิบายว่าเขาได้ทำการเล่าเรื่องทั้งหมดนี้ออกมาเป็นนิทาน ซึ่งแน่นอนว่ามันจะมีบางอย่างที่ผิดไปจากเนื้อหาในหนังสือบ้าง แต่นักเรียนจะเข้าใจหลักการพื้นฐานของเรื่องนี้ เพราะเขามองว่าการที่เราทำให้นักเรียนเข้าใจหลักการพื้นฐานของเรื่องที่เรียนตั้งแต่ครั้งแรกที่เขารู้จักเรื่องพวกนี้ มันจะทำให้เขาสามารถต่อยอดไปเรื่องอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น (เว็บไซต์ที่ผมทำขึ้นก็มาจากแนวคิดนี้บางส่วน ที่อยากให้นักเรียนเข้าใจเนื้อชีววิทยาที่เรียนได้ด้วยตนเอง เพราะหนังสือใช้ภาษาที่เข้าใจยากสำหรับนักเรียนที่เรียนชีววิทยาเป็นครั้งแรก แต่วีดิโอที่ผมทำขึ้นใช้ภาษาที่ง่ายกว่า และใช้ภาพที่สามารถเข้าใจได้ง่ายกว่า) 





5. จะใช้วีดิโอปฏิรูปการศึกษาได้อย่างไร


TED นี้ Salman Khan อีกหนึ่งคนที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมสร้างเว็บไซต์นี้ขึ้นมา หลายๆไอเดียในเว็บไซต์นี้ผมเอามาจากเขา และปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย Salman Khan เป็นผู้ก่อตั้ง Khan academy เว็บไซต์ที่รวบรวมวีดิโอการสอนในวิชาต่างๆ ไว้จำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีระบบ Gamification ซึ่งเป็นการนำทฤษฎีเกมส์ เช่น การแจกรางวัล การแข่งขันเรื่องคะแนน เพื่อเป็นการดึงดูดความสนใจ และสร้างแรงกระตุ้นในการเรียนรู้ให้กับนักเรียน ซึ่งจากแนวทางนี้ ทำให้เกิดการต่อยอดไปสู่การจัดการเรียนรู้แบบ Flipped classroom (ผมทำ วิทยานิพนธ์---Thesis เรื่องนี้อยู่) และการสร้างเว็บไซต์นี้ของผมก็เพื่อให้มีระบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์ที่เป็นของประเทศไทยเอง ผมเริ่มต้นจากวิชาชีววิทยาที่ผมถนัดก่อน และอาจจะต่อยอดไปถึงวิชาอื่นๆ อย่างที่ Khan academy ทำ 



จริงๆ ยังมีอีกหลาย TED ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผม และผมเชื่อว่าน่าจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คุณครูทุกๆ คนด้วย ผมแค่อยากให้คุณครูทุกคนลองนึกถึงวันที่เราอยากมาเป็นครู วันแรกที่เราตัดสินใจมาเป็นครู ทำไมเราถึงเลือกสิ่งนี้ และใช้เหตุผลนั้นผลักดันเราให้มีกำลังมากพอที่จะพัฒนาการศึกษาไทยให้ก้าวหน้า และแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้
TED Inspiration Reviewed by Sanwithz on วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 17, 2559 Rating: 5

1 ความคิดเห็น:

  1. มีความคิดเห็นอย่างไร หรือมีคำถามอะไรเพิ่มเติม พิมพ์ไว้ตรงนี้ได้เลยนะครับ

    ตอบลบ

All Rights Reserved by BIOLOGY BY KRU-P'BANK © Since 2015
Made with Love by Sanwithz

ฟอร์มรายชื่อติดต่อ

ชื่อ

อีเมล *

ข้อความ *

ขับเคลื่อนโดย Blogger.